วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากอาเซียน



ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากอาเซียน


                      ตามที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (AFTA) ได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยมีสินค้าเกษตรจำนวน 23 รายการที่จะต้องยกเลิกโควตา และลดภาษีเป็น 0% ประกอบด้วย น้ำนมดิบ/นมพร้อมดื่ม นมผงขาดมันเนย หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ กระเทียม พริกไทย มันฝรั่ง ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไหมดิบ ลำไยแห้ง เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ชา น้ำตาล และใบยาสูบยกเว้น เมล็ดกาแฟ มันฝรั่ง และเนื้อมะพร้าวแห้งที่ภาษีเป็น 5% ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมสินค้าเกษตรไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้มากขึ้น และสินค้าวัตถุดิบนำเข้ามีราคาถูกลงทำให้ลดต้นทุนการผลิตเพื่อส่งออก แต่ก็พบว่ามีสินค้าเกษตรบางรายการที่อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น ปาล์มน้ำมัน และข้าว เป็นต้น สำหรับในเรื่องข้าวแม้ว่าในภาพรวมของการเปิดเขตการค้าเสรีจะไม่ได้รับผลกระทบนัก เนื่องจากข้าวไทยเป็นตลาดข้าวคุณภาพสูง และสินค้าข้าวที่อยู่ในข้อตกลงเป็นข้าวประเภทปลายข้าวหักซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปจากข้าวเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความกังวลในเรื่องข้าวที่ด้อยคุณภาพจะเข้ามายังประเทศไทย โดยการลักลอบผ่านตามแนวชายแดนซึ่งจะยากต่อการควบคุมและตรวจสอบแหล่งที่มาทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวของเกษตรกรได้ ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือในการควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารตามแนวชายแดนไทยไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารในส่วนที่อยู่นอกเขตด่าน ของกระทรวงเกษตรฯ อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนในเรื่องปาล์มน้ำมันซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดสัมมนาเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและผู้ประกอบการ ซึ่งได้เสนอแนวทางหลัก 2 ด้าน คือ 1. ด้านกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาการผลิตปาล์มทั้งระบบให้สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งหลักได้ เช่น การออกกฎหมายรองรับในเรื่องปาล์มน้ำมัน มาตรฐาน ปาล์มน้ำมัน การประกันรายได้ของปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพดีเช่นเดียวกับข้าว การจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันเช่นเดียวกับกองทุนยางพารามีการบริหารการนำเข้า ที่มีประสิทธิภาพ โดยควรนำเข้าเฉพาะน้ำมันปาล์ม เพื่อการบริโภคเท่านั้น และกำหนดระยะเวลานำเข้าที่ชัดเจน ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาปาล์มภายในประเทศ และ 2. ด้านการผลิต โดยส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร เช่น การใช้ปุ๋ย ดินและพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมองค์ความรู้ในเรื่องอุตสาหกรรมปาล์มโดยเฉพาะบุคลากรที่ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ และจากข้อมูลมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน พบว่า ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังอาเซียนจำนวนประมาณ 146,000 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากอาเซียน มีเพียงประมาณ 44,400 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 102,000 ล้านบาท ในภาพรวมจึงถือว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า ในการเปิดเสรีการค้าไทยอาเซียน เนื่องจากไทยมีศักยภาพการผลิตสูงกว่าประเทศในอาเซียน โดยคาดว่าผลจากการที่อาเซียนจะลดภาษีเป็น 0% ทำให้ GDP ของไทยในปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.75% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 204,000 ล้านบาท 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น